วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3 ยุทธนาวี

"มองอย่างผู้ดู... ผมว่าหนังมีเรื่องเล่ามากเกินไป"

ผมใจจดใจจ่อในการอยากดูหนังเรื่องนี้มากอยู่ในระดับหนึ่ง มากที่สุดในเดือนนี้เลยก็ว่าได้
จึงพยายามรีบจัดแจงหลายๆสิ่งให้เรียบร้อย (บ้าง ไม่เรียบร้อยบ้าง) เพื่อไปจัดจองที่นั่งในโรงภาพยนตร์ ฉลองการเข้าฉายวันแรก

ยอมรับว่าดูเพลินดี สนุกสนาน มีฉากตื่นตาพอตัว
มีฉากตลกสอดแทรกอย่างหนังไทยทั่วไป

และก็ยาวได้อย่างสมใจที่รอคอย

แต่โดยส่วนตัวแล้ว
ผมมองว่าเป็นเพราะผู้สร้าง คิดจะให้มันเป็นภาคคู่หรือเปล่า?
จึงพยายามใส่เรื่องราวที่เยอะมาก
ตัวละครใหม่ๆที่โผล่มาเข้าฉากอีกหลายตัว

และความสัมพันธ์รูปแบบแปลกๆของเหล่าตัวละครในเรื่อง...

ซึ่งมันเหมือนเป็นการเกริ่น และยังไม่ได้เฉลย
มันเลยเหมือนว่ามีเรื่องที่จะบอกเยอะซะเหลือเกิน

ผมชอบภาค 2 มากกว่า
และก็คิดไปวส่าจะได้เห็นยุทธหัตถีที่ภาคนี้

เลยผิดหวังกับความรู้สึกแปลกในหนัง...

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

Pendragon : 5 ปีที่เรารู้จักกัน จากพ่อค้าแห่งความตาย สู่ทหารหาญแห่งฮัลลา

5 ปีที่แล้ว ราวๆ พศ.2549 ผมมีโอกาสได้หยิบหนังสือแปลเล่มหนึ่งมาจากบูทที่ผมไม่รู้จักหรอกบูทหนึ่งในงานหนังสือ

ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นช่วงเดือน ตค. ปีนั้น
ผมเป็นคนที่ชอบลองอะไรใหม่ๆอยู่แล้ว และตัดสินซื้อหนังสือจากคำโปรย

หลังจากได้อ่านหนังสือเรื่อง "เพนดรากอน - พ่อค้าแห่งความตาย" ซึ่งเป็นเล่ม 1 ของมหากาพย์นิยายเรื่องหนึ่งสำหรับผม

บูทหนังสือที่ผมไม่เคยรู้จัก กลายมาเป็นบูทที่ผมต้องเดินไปหาในงานเป็นบูทแรกๆเสมอๆ
บูทแห่งนั้นคือบูทเรือนปัญญา

จากฉบับแรกที่ผมอ่านนั้น ผมเฝ้ารอดูการเติบโตของ Pendragon ตัวเอกของเรื่องมาตลอดในงานหนังสือทุกๆครั้ง เพราะแต่ละเล่มจะออกในงานหนังสือแต่ละครั้ง ซึ่ง 1 ปีมีงานเพียง 2 ครั้งเท่านั้น

เป็นการรอคอยที่ยาวนานเหลือเกิน

แต่การรอคอยของผมวันนี้มามาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
เพราะเล่ม 10 นั้น อยู่ในมือของผมแล้ววันนี้

ความปลาบปลื้มบางอย่างมันหลั่งไหลออกมา
ผมไล่อ่านมันอย่างใจจดใจจ่อ
และซึมซับกับการเดินทางของ Pendragon ที่ยาวนานเหลือเกิน

จนตัดสินใจว่า 10 blog จากนี้ ก็คือมหากาพย์การเล่าเรื่องการเดินทางของ Pendragon อย่างย่อ
และเป็นการเล่าความทรงจำที่แสนปลาบปลื้ม

เริ่มแรกเลยนั้น Pendragon ก็เป็นเด็กหนุ่มวันมัธยมคนหนึ่ง
ที่มีความอยากเด่นอยากดัง และ อยากมีความรักเหมือนกับหนุ่มๆวัยเดียวกันทั่วไป

แต่วันหนึ่ง เหตุการณ์แปลกๆก็เกิดขึ้นกับเขา
เมื่อลุงเพรส คุณลุงญาติสนิทของเขาได้เข้ามาในชีวิต

พร้อมกับชวนเขาให้เข้าสู่การเดินทางไปสู่การผจญภัยที่เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน
ผ่านประตูมิติที่เรียกว่า ฟลูม

ฟลูมได้เชื่อมโยงโลกหลายๆดินแดนเข้าด้วยกัน
ดินแดนแรกที่ Pendragon ได้เข้าไปก็คือ เดนเดอรอน ดินแดนที่มีบรรยากาศคล้ายๆกับยุโรปยุคกลาง
ดินแดนแต่ละแห่งที่ Pendragon ต้องไปนั้น กำลังเผชิญกับ จุดเปลี่ยน
ซึ่งจะนำดินแดนไปสู่การสูญสิ้น หรือล่มสลาย
ผู้อยู่เบื้องหลังของการสร้างจุดเปลี่ยนเหล่านี้ก็คือ เซนต์เดน ตัวร้ายของเรื่อง

ซึ่ง เซนต์เดน ก็กลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจที่คอยเข้ามาขัดขวาง Pendragon อยู่ตลอด

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันยาวไกลของ Pendragon ครับ

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

Coppelion : สามนางฟ้าผ่าโลกนิวเคลียร์ - ฤาเมื่อโลกจะถึงกาลอวสาน

กะว่าจะกลับมาอัพ blog นี้อยู่หลายวัน
แต่งานที่เข้ามามากมายในช่วงนี้ ทั้งโปรเจคใหม่ๆ งานแปล และงานเขียน
ก็ทำให้หัวปั่นกันไปใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้น Laptop คู่ใจก็ดันถูกนำไป Format เนื่องจากความหน่วงซึ่งเกิดจากอายุการใช้งานที่ยืนยาวอยู่พอตัว

อีกทั้งไอ้เรื่องการติดตามข่าวสารจากแผ่นดินไหว ซึนามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว
อีกมากมาย ทำให้หาเวลามาเขียน blog นี้ไม่ได้จริงๆ

พอมานึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นนี้ ก็พาลทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนเรื่อง Coppelion : สามนางฟ้าผ่าโลกนิวเคลียร์ ซึ่งมีเหตุการณ์ละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นมนตอนนี้เสียเหลือเกิน

เริ่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในโตเกียว จนส่งผลให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รั่วไหลออกมา
จนก่อให้เกิดมลภวะอย่างรุนแรงไปทั้งเขตโตเกียว

ชาวบ้านทั้งโตเกียวจึงต้องอพยพย้ายออกมาจากโตเกียวจนหมด
เพียงแต่ว่า ก็ยังคงมีคนส่วนหนึ่งที่ยังไม่ยอมหนีออกมาจากเขตหายนะนั้น

จนกระทั่ง 16 ปีผ่านมา คนพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Coppelion ซึ่งถูกสร้างด้วยเทคนิควิศวพันธุกรรมให้มีภูมิคุ้มกันต่อกัมมันตภาพรังสีก็ได้ถูกส่งเข้ามาเพื่อตามหาผู้รอดตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

พวกเธอต้องเผชิญกับระบบนิเวศที่เกิดใหม่หลังจากเมืองถูกรกร้าง และความลับอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในซากเมืองโตเกียว

ความคล้ายคลึงเหล่านี้ ทำให้ผมแอบหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นตอนนี้เสียจริง!!

ปล.วันนี้เป็นวันแรกของงานหนังสือปี 53 ครับ

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

คัยโอขิ พลิกตำนานจ้าวสมุทร : สายลม แสงแดด และ การล่องเรือในมหาสมุทรเวิ้งว้าง...

"เพราะว่าขี้เกียจ วันนี้เลยจะขยันมากๆ เพื่อว่าวันหน้า จะได้ขี้เกียจได้อย่างเต็มที่"...
เป็นคำพูดที่ดูมีความมั่นใจในตัวเองอย่างไรไม่รู้
คำพูดนี้เป็นคำพูดของ ฟาน กัมมะ บิเซ็น ตัวเอกของเรื่อง คัยโอขิ
การ์ตูนเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งที่ผมรอคอยติดตามอย่างเหนียวแน่น

จะว่าไปตอนนี้ ญี่ปุ่น เกิดหายนะครั้งใหญ่ ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นซึนามิ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด...

คอการ์ตูนหลายๆคน คงแอบคิดกันในใน ว่านักเขียนคนโปรดจะโดนผลกระทบอะไรจากเหตุการณ์นี้บ้างมั้ย

อย่างไรก็ตาม ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กับชาวญี่ปุ่นที่โดนวิกฤตครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นความยากลำบากครั้งใหญ่นี้ไปให้จงได้

กลับมาสู่เรื่องของเรา คัยโอขิ เป็นการ์ตูนที่ผมไม่เคยคิดจะหยิบมาอ่าน
พอซื้อมา ก็แอบรู้สึกเสียใจว่ากูซื้อมาทำไม
จำได้ว่าครั้งนั้นผมซื้อมาพร้อมกันถึง 15 เล่ม
เพราะได้ยินว่ามันดีนักดีหนา

แต่พอเปิดอ่านไปเล่ม สองเล่มแรก
ก็เบื่อ และรู้สึกผิดหวังอยู่ในระดับหนึ่ง...

แต่พออ่านไปๆ
ความล้ำลึกของเนื้อหาเริ่มสร้างสายสัมพันธ์ประหลาดให้ผมติดตามอ่านอย่างใจจดใจจ่อ

เนื้อหาของคัยโอขิว่าด้วยเรื่องราวของชนเผ่าทะเล (ที่จะว่าไปก็คล้ายๆกับ Water World)
ที่ครอบครองมหาสมุทรทั้งโลก และเป็นชนเผ่าที่ทั้งโลกต่างก็ให้ความเกรงขาม

ฟาน กัมมะ บิเซ็น ก็เป็นชาวเผ่าคนหนึ่งที่เข้าร่วมชิงชัยการเป็นผู้นำเผ่าคนใหม่ หรือตำแหน่งที่เรียกว่า "เจ้าสมุทร"

การเดินทางของเขาจึงเริ่มต้นขึ้นจากจุดนี้
ความเด่น และความแหวกแนวของการ์ตูนเรื่องนี้คงไม่พ้น การให้รายละเอียดเกี่ยวกับการล่องเรือที่การ์ตูนเรื่องอื่นคงให้รายละเอียดเทียบเท่าได้ยาก
และการสร้างโลกใบใหม่ (โดยส่วนตัวผม ผมว่ามันเป็นโลกอนาคต ประมาณว่าหลังจากสงครามนิวเคลียร์อะไรแบบนั้น) พร้อมกับระบบสังคมแบบใหม่ขึ้นมา

หากเรียกรูปแบบของการ์ตูนแบบนี้ว่าเป็นแบบไหน
ผมคิดว่ามันเป็นแบบ Slow Starter คือยิ่งอ่านยิ่งมันส์!!!

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

kafka on the shore : คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ - Haruki The Man!!!

ผมเข้าใจว่า นี่คือ นิยาย มูราคามิ เล่มแรกที่ผมรู้จัก
และนี่คงเป็นจุดแรกที่เรียกว่าผมได้รู้จักกับนิยาย Post Modern

ความแปลกประหลาดเป็นคำจำกัดความที่ผมยกให้เป็นคำจำกัดความสำหรับนิยายเรื่องนี้
แต่ความแปลกประหลาดของตัวหนังสือ ก็ไปกันได้อย่างลงตัวกับบรรยากาศเหนือจริงของ Kafka on the Shore

มูราคามิ สร้างตัวละครที่ขาดอะไรบางอย่างให้โลดแล่นอยู่ในเนื้อเรื่อง
แต่ละคนขาดบางสิ่งที่จะเติมเต็มชีวิต เป็นเหล่าคนที่มีรูโหว่
เป็นคนที่มีความเหงาเป็นองค์ประกอบหลักของชีวิต

...นี่เป็นรูปแบบที่โดดเด่นของนิยาย มูราคามิ
ตัวละครที่แปลกแยก เดินสวนกับสังคมอยู่อย่างโดดเดี่ยว
การมาพานพบที่แปลกประหลาด เพื่อจะมีความสัมพันธ์ที่เหนือจริงระหว่างกัน

จากหน้าแรก ถึง หน้าสุดท้ายของ Kafka
ผมสมัครใจกลายเป็นแฟนของ มูราคามิ ในทันที
ราวกับว่า นี่คือสิ่งเติมเต็มชิ้นหนึ่งที่ผมขาดอยู่เช่นกัน...

สำนวนการแปลของคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ก็มีกลิ่นอายที่เข้ากันได้ดีกับนิยายของ มูราคามิ อย่างอธิบายไม่ได้

เนื้อเรื่องเล่าถึง นาคาตะ ชายแก่ประหลาดๆที่มีความสามารถแปลกๆ พูดกับแมวได้
การร่วมเดินทางของ นาคาตะ กับ โฮชิโนะ คนขับรถบรรทุกที่จับผลัดจับผลูมาเดินทางร่วมกับ นาคาตะ

ประกอบไปด้วยเรื่องราวที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศแปลกของตัวละครที่โผล่เข้ามาทั้ง บรรณรักษณ์ ที่สับสนทางเพศ หรือมิสซาเอกิที่หยุดอายุตัวเองอยู่ที่ 20 และท้ายที่สุดก็คือ คาฟคา เด็กหนุ่มอายุ 15 ที่หนีออกจากบ้านและชอบการออกกำลังกาย...

เมื่ออ่านจบแล้ว
ผมเองรู้สึกว่า นิยายเรื่องนี้มันยังไม่จบ
แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของตัวละครต่างๆ
เหมือนกับว่าพวกเขามีชีวิต
และยังคงดำเนินชีวิตอยู่ในโลกของ มูราคามิ ตลอดไป...

“…ขอให้เธออย่าลืมฉัน ถ้าเธอจำฉันได้ตลอดไป ฉันไม่สนใจว่าใครจะลืมฉันไปบ้าง”

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

The Hitchhiker's Guide to the Galaxy : บ้า ฮาป่วง ระดับทะลุดาราจักร

"มันคงจะเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าบ้านของเราถูกเวณคืนเพื่อไปทำทางด่วน...
แต่มันคงไม่ใหญ่เท่ากับว่า โลกของเรากำลังจะถูกเวณคืนเพื่อทำทางด่วนจักรวาล!!!"

นี่คือเนื้อหาป่วงๆกวนตับให้ปวดของ "คู่มือท่องกาแล๊คซี่ฉบับนักโบก" หนังสือที่ขายดีที่สุดในจักรวาล
ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1979 ก็นานเอาเรื่องอยู่ แต่ผมพึ่งได้มาหยิบจับเอาจริงๆก็ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

เคยได้ดูภาพบนยตร์ซึ่งสร้างมากจากหนังสือเล่มนี้
ก็ฮาปวดตับแบบเซลล์สมองกระตุกมาที

พอมาอ่านบทนำ มีแต่คนยืนยันว่า
ตัวหนังนั้น เทียบเท่าไม่ได้เลยกับตัวหนังสือ

พอลองเปิดอ่านดู ก็รู้ว่า Douglas Adams ผู้เขียน เป็นไอ้ตัวป่วงจริงๆ!!!

เพราะลีลาการเขียนของพี่แกนั้น
"มันไม่มีสาระแบบมีสาระ"

มันมีเรื่องราวบอกเล่าของตัวมันเองอย่างเสร็จสรรพ์
แต่ก็หาที่มาที่ไปไม่ได้เลย

ยิ่งมาได้สำนวนแปลของคุณแทนไท ประเสริฐกุล
ผู้แปลที่ดูป่วงพอกันแล้ว
ผมยกให้หนังสือเล่มนี้เป็นของดีประจำเดือนของผมเลย

The Hitchhiker's Guide to the Galaxy เป็นเล่มแรกจาก มหากาพย์ 5 เล่ม
ซึ่ง 4 เล่มแรกนั้น พี่  Adams แกเขียนเอง
แต่แกด่วนลาโลกไปก่อน จึงทำให้นักเขียนอีกท่านผู้รักในผลงานชุดนี้เหลือเกิน
มาขอสานต่อความป่วงให้มันหนักหนาขึ้นในเล่ม 5
นักเขียนที่ว่านี้ก็คือพี่ Eoin Colfer นักเขียนคนโปรดอีกคนของผม
เจ้าของผลงาน Series Artemis Fowl ซึ่งมีแนวที่แปลกไปอีกแบบไม่แพ้กันเช่นกัน

ถ้าใครชอบงาน กวนๆ มุมมองแปลกๆบูดๆเบี้ยวๆของจักรวาล
ไปลองสอยมาอ่านกันครับ ฉบับเมืองไทยพิมพ์โดย Pearl Publishing ซึ่งหาได้ไม่ยากนักในงานหนังสือ ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้

ขอฝากไว้ก่อนอ่านครับ

"Don't Panic"

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

มหากาพย์ภูผามหานที : ภาคปฐมบทผู้กล้า

ผมเป็นแฟนนิยายจีน บู๊ เฮี๊ยบ อย่างเหนียวแน่น
อ่านเรื่องดังครบถ้วนทุกเรื่อง
ถกเถียงเรื่องหลักวิชาอยู่เป็นครั้งคราว

และยกสำนวนของ โกว เล้ง มังกรเมรัย
เป็นปรมาจารย์

หาใช่ว่าเดียจฉันท์งานประพันธ์ของท่านอื่น
แต่หนักชอบไปทางสำนวน และการต่อสู้แนวโกว เล้ง มากกว่า

โตมาหลังจากได้เสพย์งานของ โกว เล้ง และ กิม ย้ง ผ่านทาง
ละครโทรทัศน์เสียส่วนมาก

ผมก็ได้เริ่มมารู้จัก หวง อี้ จอมเทพอักษราแห่งบูรพาทิศ
ผ่านทางหนังสือการ์ตูนฮ่องกง ที่เข้ามาตีพิมพ์โดยบูรพัฒน์

จากนั้นก็เริ่มติดตามผลงานของนักเขียนคนอื่นๆมาเรื่อยๆ

จนได้มาพบกับ เฟิง เกอ (บทเพลงแห่งหงส์) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นใหม่
ของมุมมองการอ่านนิยายจีนของผม

เพราะ เฟิง เกอ เอาสิ่งที่ดูแปลกแยกจาก บู๊ เฮี๊ยบ มาเรียงร้อยลงไปในตัวอักษรอย่างลงตัว
ทั้งเรื่องของการนำเอาหลักคณิตศาสตร์มาผนวกกับแผนภาพ ปา กั๋ว

ก่อเกิดวิทยายุทธมหัศจรรย์พันลึกกว่าที่เคยทีจากนิยายจีนเล่มไหนที่ผมอ่าน

ภาคปฐมบทผู้กล้า เป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ชุดนี้ ซึ่งมีความยาวเพียง 1 เล่มจบ

เล่าถึงเรื่องราวก่อนกำเนิดของตัวเอกในภาค 2 และเริ่มปูเกริ่นแนวทางวิชาต่างๆเอาไว้
พร้อมทั้งการผูกพันธ์บุณคุณความแค้นที่ล้ำลึกไปสู่ภาค 2

แนวเขียนของ เฟิง เกอ จะหนักไปทาง กิมย้ง มากกว่า โกว เล้ง
นุ่มนวลกว่า ละมุนกว่า

แต่จุดเด่นสำคัญคือเรื่องของยุทธจักรที่แหวกแนวจากเรื่องอื่นๆ
ถึงแม้จะมีช่วงเวลาทับซ้อนกับนิยายจีนเรื่องอื่นๆอยู่

สำหรับผู้สนใจที่จะเริ่มอ่านนิยายจีน เรื่องนี้นับว่าเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเช่นกัน...

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

Black Swan : เพราะหนังที่งดงาม ก็ประหนึ่งการอิ่มเอมจากหนังสือเล่มใหญ่...

จริงๆแล้ว blog นี้จะเขียนเอาเฉพาะเรื่องของหนังสือเท่านั้น
เพราะชื่อก็จ่อหัวอยู่ทนโท่ว่า "ติดหนังสือ"
แต่ไอ้ครั้นจะไปเปิด blog ใหม่ก็ ใช่เรื่อง
จึงคิดเป็นว่า เอาเป็นว่า
ดูหนังเรื่องไหนประทับใจ ผมก็จะมาเขียนอะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเองจดจำไว้เป็นบันทึกที่นี่ละกัน

ช่วงหลังงานเยอะเหลือเกิน
จะว่างเว้นมาเขียนทีก็หาเวลาลำบากเหลือ...

ได้ยินชื่อ Black Swan มาช่วงหนึ่งแล้ว
มี blog หนึ่งเขียนถึงแล้วบอกว่างดงามมาก
พาลไปอ่านเรื่องย่อแบบไม่คิดอะไร
ก็เข้าใจว่าเป็นหนังแนว Professionalism ของเหล่า ballerina
ที่ต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงเอาตำแหน่งนักเต้นในบท Swan Queen ซึ่งเป็นบทเอกในเรื่อง Swan Lake

หา Preview ดูแล้ว
ก็ยังพาลคิดว่าใช่อีก...

2-3 วันก่อน แอบติดตาม Oscar ในตอนทำงาน
ก็แอบลุ้นให้ Natalie Portman ได้รับรางวัล Best Actress เพราะความชอบบทบาทของเธอเองส่วนตัว
แต่ก็ยังไม่ได้รู้เรื่องหนังอยู่ดี

วันนี้ตัดสินใจไปดูในโรง

พบว่าหนังงดงามเหลือเกิน
แต่ความงดงามในสายตาผมนั้น มันมาพร้อมอาการอึดอัดที่ยากจะกล่าว

เหมือนจะหายใจลำบาก จะหายใจติดขัดอยู่ตลอดเวลา...

เนื้อเรื่องเล่าถึง Nina Sayers นักเต้นที่มากความสามารถ แต่ขาดซึ่งความกล้า
เธอได้รับเลือกให้แสดงบท Swan Queen ซึ่งล้วนเป็นบทที่นักเต้นทั้งโลกถวิลหา

ด้วยความกดดันต่างๆนานาๆ
กลัวว่าจะเต้นได้ไม่ดี
กลัวว่าจะไม่สามารถทำให้ผู้ชมประทับใจ
กลัวว่าจะมีใครมาแย่งบท...

ทำให้เธอเกิดอาการประสาทหลอนอยู่ตลอดเวลา

ตัวหนังหม่นหมองหน่อยๆ

สะท้อนอาการหายใจไม่เต็มปอดของหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

อาการตอนดูเหมือนกับการกินเหล้า
ที่ทั้งขมทั้งฝาด กลืนยาก
แต่ก็ยังอยาก และฝืนกลืนลงไปอยู่ตลอดเวลา

หลังออกจากโรงมา ก็เหมือนเมาๆค้าง
อิ่มเอม แบบลอยๆ
จะอ้วกแต่ไม่อ้วก...

แต่ก็มีรอยยิ้มแฝงอยู่แบบแปลกบนใบหน้า...